วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2555
ขวัญจิต ศรีประจันต์
แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ มีนามจริงว่า นางเกลียว เสร็จกิจ เกิดเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๙๐ ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นผู้ที่มีความสนใจทางด้านการร้องเพลงพื้นบ้านมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๕ ขณะที่อายุประมาณ ๑๕ ปี โดยมีความชื่นชม และเฝ้าติดตามการขับร้องเพลงของแม่บัวผัน จันทร์ศรี (ศิลปินแห่งชาติ) และ ครูไสว วงษ์งาม อย่างใกล้ชิดและในที่สุดก็ได้ขอฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อฝึกฝนการขับร้องเพลงกับครูเพลงทั้ง ๒ ท่าน ด้วยความเป็นผู้ที่มีพรสวรรค์ในทางการขับร้อง กอปรด้วยความมีไหวพริบปฏิภาณ และน้ำเสียงอันเป็นเลิศ อีกทั้งมีความมานะพยายามไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ทำให้แม่ขวัญจิตสามารถเรียนรู้วิธีการขับร้องเพลงพื้นบ้านประเภทต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพลงอีแซว จากแม่บัวผัน และเพลงแนวผู้ชายจากครูไสวได้เป็นอย่างดีภายในระยะเวลาไม่นาน
แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ ไม่เพียงมีความสามารถในด้านการขับร้องเพลงพื้นบ้านเท่านั้น หากท่านยังมีความสามารถในการแต่งเพลงอีแซวได้อย่างเป็นเลิศอีกด้วย เนื่องจากท่านมีความรักในด้านการอ่านหนังสือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วรรณคดีไทยเป็นพิเศษ จึงสามารถจดจำลีลาการประพันธ์และเค้าโครงเรื่องเหล่านั้นมาประพันธ์เป็นเพลงอีแซวได้อย่างไพเราะงดงาม
แม่ ขวัญจิตได้ออกตระเวนเล่นเพลงอีแซวเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์และหาความรู้กับ ครูเพลงพื้นบ้านอีกหลายท่านทำให้ความสามารถของท่านพัฒนาขึ้นโดยลำดับจนเริ่ม มีชื่อเสียง จากนั้นในช่วงประมาณปี ๒๕๑๐ ก็ได้หันไปสนใจการขับร้องเพลงลูกทุ่ง โดยได้เข้าเป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งในวงดนตรีของครูจำรัส สุวคนธ์ และวงดนตรีของ ครูไวพจน์ เพชรสุพรรณ ตามลำดับจนมีชื่อเสียงโด่งดัง เพลงลูกทุ่งที่ร้องอัดแผ่นเสียงเป็นเพลงแรกคือ เพลงเบื่อสมบัติ ตามด้วยเพลงดังอื่นๆ เช่น ลาน้องไปเวียดนาม ขวัญใจคนจน แม่ครัวตัวอย่าง ฯลฯ จากนั้นก็ได้แต่งเพลงเองอันได้แก่เพลง กับข้าวเพชฌฆาต น้ำตาดอกคำใต้ สาวสุพรรณ เป็นต้น เมื่อประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงอย่างกว้างขวางแล้ว ก็ได้จัดตั้งวงดนตรีลูกทุ่งของตนเองขึ้น โดยใช้ชื่อว่าวงขวัญจิต ศรีประจันต์ ซึ่งท่านได้นำเอาระบบแสง สี เสียง อันทันสมัยน่าตื่นตาตื่นใจมาใช้ในการแสดง อีกทั้งได้ประยุกต์เพลงอีแซว มาผสมผสานเข้ากับเพลงลูกทุ่งได้อย่างกลมกลืมทำให้ได้รับความนิยมชมชอบจากผู้ ชมเป็นอย่างยิ่ง
แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ ได้ใช้ชีวิตอยู่ในวงการเพลงลูกทุ่งจนกระทั่งถึงปี ๒๕๑๖ จึงได้ยุบวงแล้วหันกลับไปฟื้นฟูเพลงอีกแซวอีกครั้ง โดยในการกลับมาครั้งนั้น ท่านได้ตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะอนุรักษ์ ฟื้นฟู และเผยแพร่ศิลปะพื้นบ้านแขนงนี้อย่างจริงจัง โดยนอกจากการแสดงแล้ว ท่านยังอุทิศตนในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจ โดยได้ไปบรรยายและสาธิตการแสดงเพลงพื้นบ้านในสถานศึกษาต่างๆ ตั้งแต่ระดับโรงเรียนจนถึงมหาวิทยาลัย และยังคงปฏิบัติเช่นนี้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ผลงานการขับร้องเพลงด้านต่างๆ ของแม่ขวัญจิต ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีอีกมากมาย แบ่งออกเป็นเพลงหลายประเภทดังนี้
ประเภทเพลงลูกทุ่ง ได้แก่ เพลงเศรษฐีสุพรรณ ก็นั่นนะซิ วุ้ยว้าย นางครวญ อ้อมอก เจ้าพระยา อายบาปอายบุญ ปิดทองพระ แห่ผ้าป่า แฟนหนังเร่ เสียงครวญจากชาวประชา ชวนน้องกลับอีสาน กับข้าวเพชฌฆาต ฯลฯ
ประเภทเพลงพื้นบ้าน ได้แก่ เพลงชุดปัญหาหัวใจ อานิสงส์ทอดกฐิน ประเพณีไทย น้ำตาหมอนวด ประวัติเมืองสุพรรณ อีแซวประยุกต์ พระมาลัยโปรดนรก พระคุณพ่อแม่ อานิสงส์บรรพชา ประเพณีแต่งงาน เต้นกำรำเคียวเกี่ยวมดตะนอย ฯลฯ
ประเภทเพลงแหล่ ได้แก่ แหล่มัทรีเดินดง แหล่ประวัตินาค แหล่กัญหาชาลี แหล่ทำขวัญนาค แหล่ถาม-ตอบพิธีแต่งขันหมาก แหล่ถาม-ตอบเรื่องการแต่งาน ฯลฯ
จากความสามารถและความทุ่มเททั้งกายและใจในวิชาชีพ ทำให้แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ ได้รับรางวัลและเกียรติคุณต่างๆ หลายประการ ได้แก่
- ได้รับการคัดเลือกเป็นสื่อพื้นบ้านดีเด่น ของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคกลางและสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพย์ติด เมื่อปี ๒๕๓๓
- ได้รับพระราชทานโล่เชิดชูเกียรติ ศิลปินเพลงลูกทุ่งดีเด่น จากงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทยภาค ๒ ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อ ปี ๒๕๓๔
- ได้รับโล่เกียรติคุณ ในฐานะนักร้องลูกทุ่งดีเด่น ของจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อ ปี ๒๕๓๖ เป็นต้น
นอกจากจะเป็นศิลปินเพลงพื้นบ้านและเพลงลูกทุ่งที่มีความสามารถสูงยิ่งแล้ว แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ ยังเป็นผู้ที่มีจิตใจเปี่ยมด้วยคุณธรรมอย่างน่าสรรเสริญ ตลอดชีวิตของการเป็นนักร้องเพลงพื้นบ้านและเพลงลูกทุ่ง ท่านได้อุทิศตนช่วยเหลืองานบุญงานกุศลต่างๆ มิเคยว่างเว้นทั้งงานราษฎร์ และงานหลวง อาทิ การช่วยรณรงค์เพื่อปราบปรามยาเสพย์ติด การรณรงค์ในเรื่องปัญหาโรคเอดส์ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาต่างๆ และการรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น จากผลงานและเกียรติคุณดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จึงประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้ท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน-อีแซว) เมื่อปี พุทธศักราช ๒๕๓๙
จักรกฤษณ์และผมเดินทางไปยังจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นที่รวมแห่งศิลปินแห่งชาติหลายท่านอีกครั้ง เพื่อถ่ายภาพแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ หลังจากที่เคยมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปีก่อน แต่ไม่พบท่าน เพราะในครั้งนั้นผมได้นัดอาไว้ล่วงหน้า
ขณะที่ไปถึงภาพแรกที่ผมมองเห็นก็คือมีเด็กนักเรียนเล็กๆ ทั้งหญิงชายกลุ่มหนึ่งนั่งล้อมวงโดยมีแม่ขวัญจิตนั่งอยู่ตรงกลางที่ลานใต้ถุนบ้านทรงไทยเพื่อสอนการขับร้องเพลงอีแซวอย่างตั้งอกตั้งใจ เมื่อเห็นผมเดินเข้ามา แม่ขวัญจิตก็ได้อนุญาตให้ผมเดินดูบริเวณโดยรอบบ้านทั้งด้านนอกและด้านในเพื่อเลือกมุมถ่ายภาพได้ตามความพอใจ ในตอนแรก ผมได้เลือกมุมหนึ่งที่ชั้นบนของบ้านที่มีฝาไม้ประกบเป็นฉากหลังเพื่อถ่ายภาพ โดยจัดไฟที่เตรียมมาตามปกติ และได้ถ่ายภาพชุดแรกที่จุดนี้ แต่ก็ยังรู้สึกไม่ถูกใจนักกับมุมดังกล่าวเนื่องจากดูทึบทึม และไม่มีสิ่งประกอบที่น่าสนใจเท่าที่ควร ดังนั้น เมื่อเสร็จแล้วผมจึงขออนุญาตถ่ายภาพแม่ขวัญจิตอีกชุดหนึ่งในสวนอันร่มรื่นของท่าน โดยอาศัยเพียงแสงธรรมชาติเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างภาพทั้ง ๒ ชุดแล้ว ภาพในสวนดูจะให้ความรู้สึกที่สดชื่นกว่า แลดูเย็นตาและน่าสบายใจ ผมจึงตัดสินใจเลือกภาพดังกล่าวมาเป็นภาพหลักของฉบับนี้ครับ
แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ นับเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้ที่มีทั้งความสามารถในด้านเพลงพื้นบ้านอย่างลึกซึ้ง และเป็นผู้ที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมผู้ได้บำเพ็ญประโยชน์เป็นอเนกประการต่อสังคม นับเป็นศิลปินที่ชาวสุพรรณบุรีภาคภูมิใจที่สุดท่านหนึ่ง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น